ไมตรีปาละ สิริเสนะ
ไมตรีปาละ สิริเสนะ

ไมตรีปาละ สิริเสนะ

ไมตรีปาละ สิริเสนะ (อักษรโรมัน: Maithripala Sirisena; สิงหล: මෛත්‍රීපාල සිරිසේන; เกิด 3 กันยายน พ.ศ. 2494) เป็นนักการเมืองชาวศรีลังกา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่เจ็ดของศรีลังกา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558[1][2] ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562[ต้องการอ้างอิง] เป็นประธานาธิบดีศรีลังกาคนแรกที่มาจากมณฑลกลางเหนือ (North Central Province) และไม่ได้มาจากกลุ่มอภิสิทธิชนทางการเมืองตามขนบประเพณี[3]เขาเข้าสู่การเมืองกระแสหลักเมื่อ พ.ศ. 2532 ด้วยการเป็นสมาชิกรัฐสภาศรีลังกา และได้ว่าการหลายกระทรวงตั้งแต่ พ.ศ. 2537[4] ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ. 2558 คือ เลขาธิการพรรคเสรีภาพศรีลังกา (Sri Lanka Freedom Party) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เขาเป็นบุคคลที่กลุ่มฝ่ายค้านมีมติร่วมกันให้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี[5][6] ชัยชนะที่เขาได้รับในการเลือกตั้งดังกล่าวนั้น มองกันว่า "เหนือความคาดหมาย" (surprise) เพราะเขาได้รับคะแนนเสียงจากเขตเลือกตั้งแถบชนบทซึ่งชนกลุ่มใหญ่เป็นชาวสิงหล ทั้งได้คะแนนเสียงจากชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมและทมิฬที่ถูกพรรครัฐบาลทอดทิ้งเนื่องจากนโยบายปรองดองหลังสงครามและการแบ่งแยกดินแดนที่ทวีความรุนแรงเรื่อย ๆ[3][7][8][9] เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว มีข่าวว่า สิริเสนะให้คำมั่นว่า จะดำเนินโครงการ "ปฏิรูป 100 วัน" (100-day reform) เพื่อจัดสมดุลใหม่ให้แก่ฝ่ายบริหารภายใน 100 วันนับแต่วันได้รับเลือกตั้ง โดยจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ จะปราบทุจริต จะสืบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จะยกเลิกรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 18 ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมาก จะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 17 และจะตั้งรนิล วิกรมสิงหะ (Ranil Wickremesinghe) หัวหน้าพรรคร่วมแห่งชาติ (United National Party) เป็นนายกรัฐมนตรี[10][11][12] แต่ภายหลังเขาแถลงว่า โครงการนี้เป็นความคิดของใครก็ไม่ทราบ แต่ไม่ใช่ของเขา[13][14]เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อหน้ากนกสปาปติ ศรีปวัน (Kanagasabapathy Sripavan) ประธานศาลสูงสุด ณ จัตุรัสเอกราช เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 18:20 นาฬิกา (เวลาท้องถิ่น)[15][16] สาบานตนเสร็จแล้วเขาก็ตั้งวิกรมสิงหะเป็นนายกรัฐมนตรีทันที[17][18] ทั้งแถลงว่า จะอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงวาระเดียว[19] เขายังประกาศโอนอำนาจที่สำคัญของประธานาธิบดีไปให้รัฐสภาโดยสมัครใจในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558[20][21]เขาเป็นที่กล่าวขวัญเพราะสร้างความประหลาดใจหลายประการให้ชาวศรีลังกา เช่น ออกกิจจานุเบกษา (gazette) ทุกวันศุกร์มาตั้งแต่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561 และในปีเดียวกันนั้น เขายังถอดวิกรมสิงหะออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่วิกรมสิงห์เป็นผู้สนับสนุนหลักให้เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีใน พ.ศ. 2558 แล้วเขาตั้งมหินทะ ราชปักษะ (Mahinda Rajapaksa) อดีตประธานาธิบดีซึ่งเคยเป็นคู่แข่งของเขา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน นอกจากนี้ เขายังสั่งปิดประชุมรัฐสภา ทั้งหมดทั้งมวลนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญศรีลังกา จึงนำไปสู่วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ[22][23][22][24]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไมตรีปาละ สิริเสนะ http://www.sbs.com.au/news/article/2015/01/10/sri-... http://www.aljazeera.com/news/asia/2014/11/sri-lan... http://www.aljazeera.com/news/asia/2015/01/sirisen... http://www.ft.com/cms/s/0/6c9fa076-97f5-11e4-84d4-... http://www.gulf-times.com/sri%20lanka/251/details/... http://www.newindianexpress.com/world/Sirisena-Fin... http://www.sfchronicle.com/news/world/article/Sri-... http://www.tamilnet.com/art.html?catid=13&artid=37... http://www.thehindu.com/news/international/south-a... http://www.thehindu.com/news/international/south-a...